วันอาทิตย์, 5 พฤษภาคม 2567

คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง)แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ข่าวที่ 181/2562 ได้นำเสนอข้อมูลมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ว่า คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดย คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาตามที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เสนอ โดยในส่วนของการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ตามแผนดังกล่าวให้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2562 เรื่อง การซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การทบทวนข้อเสนอให้จัดตั้งหน่วยงานของรัฐตามแผนการปฏิรูปประเทศอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ ให้มีการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับแผนดังกล่าวในช่องทางต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงสถาบันการศึกษาต่าง ๆ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องที่จะต้องนำแผนไปปฏิบัติ เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันและสามารถขับเคลื่อนการดำเนินการอย่างสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป

2. ในการดำเนินการตามแผนดังกล่าว ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงแรงงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงาน ก.พ. สำนักงาน ก.พ.ร.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษาไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบและมติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัดต่อไป สาระสำคัญของเรื่อง ตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 258 จ. บัญญัติให้มีการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา และมาตรา 261 บัญญัติให้การปฏิรูปดังกล่าวมีคณะกรรมการที่มีความเป็นอิสระคณะหนึ่งที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งดำเนินการศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะและร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีดำเนินการต่อไป (ให้คณะกรรมการฯ เสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการแต่งตั้ง) ดังนั้น คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาได้จัดทำ (ร่าง) แผนการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพของการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มุ่งความเป็นเลิศและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร เพิ่มความคล่องตัวในการรองรับความหลากหลายของการจัดการศึกษาและสร้างเสริมธรรมาภิบาล ซึ่ง (ร่าง) แผนดังกล่าวประกอบด้วยแผนงานเพื่อการปฏิรูปการศึกษา 7 เรื่อง จำแนกเป็นประเด็นปฏิรูป รวม 29 ประเด็น ซึ่งประเด็นปฏิรูปที่มีลำดับสำคัญสูงสุดและต้องดำเนินการให้บรรลุผลให้ได้ในระยะเร่งด่วนมี 6 ประเด็นคือ

(1) ยกเครื่องระบบการศึกษา โดยการบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่รวมถึงกฎหมายสำคัญอื่น ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติการพัฒนาเด็กปฐมวัย พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติพื้นที่นวัตกรรมการศึกษา พ.ศ. …. ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. …. และการจัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติ

(2) บุกเบิกนวัตกรรมของการจัดการศึกษาระดับโรงเรียน กลุ่มโรงเรียน หรือการจัดการระดับพื้นที่ โดยให้โรงเรียนเป็นศูนย์กลางของการยกระดับคุณภาพของการศึกษา ผ่านการขับเคลื่อนเรื่องสถานศึกษาที่มีความเป็นอิสระในการบริหารจัดการและระบบนิเวศที่สนับสนุนการดำเนินการของการศึกษา

(3) นำเสนอแนวทางการปรับหลักสูตรการจัดการศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานไปสู่หลักสูตรฐานสมรรถนะ และรูปแบบการปรับหลักสูตรในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 จัดตั้งสถาบันหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติเพื่อเป็นเสมือนศูนย์ความเป็นเลิศในการวิจัยพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรและการเรียนรู้แห่งชาติเพื่อเป็นเสมือนศูนย์ความเป็นเลิศในการวิจัย พัฒนาและปรับปรุงหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนและการประเมินผลการเรียนรู้ สำหรับการจัดการศึกษาในระดับต่าง ๆ

(4) สร้าง “ดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ” ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล นำความรู้และวิธีการเรียนรู้ไปสู่โรงเรียน นักเรียน และครูทั่วประเทศ โดยเฉพาะในท้องถิ่นห่างไกล

(5) จัดระบบการผลิตครูให้มีคุณภาพและสมรรถนะความเป็นครู ผ่านการจัดตั้งกองทุนหรือแผนงานเพื่อการผลิตและพัฒนาครูสำหรับครูรุ่นใหม่ และพัฒนาบัณฑิตครูที่มีอยู่ให้ตรงตามความจำเป็นของประเทศ ในระยะแรกเน้นครูปฐมวัย และครูประถมศึกษาสำหรับท้องถิ่นขาดแคลน

(6) ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ตามที่กำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติฉบับใหม่เพื่อเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนแผนการศึกษาแห่งชาติและการปฏิรูปการศึกษาให้เริ่มดำเนินการได้และมีความต่อเนื่องในระยะยาว   ขอบคุณที่มาและอ่านเพิ่มเติมได้จาก

ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ข่าวที่ 181/2562