วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

องค์กรครูทั่วประเทศประกาศจุดยืนคัดค้านและไม่เห็นด้วยในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

เรื่อง  ประกาศจุดยืนคัดค้านและไม่เห็นด้วยในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา

สู่การบูรณาการความร่วมมือกับพื้นที่

        ตามที่ ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา  และ ดร.สมศักดิ์  ดลประสิทธิ์  รองเลขาธิการสภาการศึกษา อนุกรรมการรับฟังความคิดเห็น ได้ดำเนินการประชุมรับฟังความคิดเห็น การขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา สู่การบูรณาการร่วมมือกับเขตพื้นที่ภาคใต้ ในระหว่างวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2562 ณ โรงแรมชฎาแอทนคร จังหวัดนครศรีธรรมราช ตามรายละเอียดที่รับทราบเป็นการทั่วไปนั้น

        สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.)และเครือข่ายองค์กรครู 4 ภูมิภาค สหพันธ์ครูภาคเหนือ,ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,ชมรมครูภาคกลาง, สมาพันธ์ครูภาคใต้  เห็นว่าเป็นการไม่เหมาะสมในการจัดกิจกรรมการประชุมตามบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบในฐานะคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)เพื่อพิจารณาการดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา ในช่วงระยะที่มีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไปยังรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประกอบกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติที่ถูก
ตีตกไม่นำมาพิจารณาสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และออกพระราชกำหนดเพื่อประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ก็ถูกตีตกโดยคณะรัฐมนตรีเช่นกัน ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวร่างโดยคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา(กอปศ.)ชุดนี้ สร้างความไม่สบายใจ หวั่นใจ กระทบต่อขวัญกำลังใจต่อผู้ประกอบวิชาชีพครูเป็นอันมาก  และการพิจารณาดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาอาจมีการหมกเม็ดในหลายประเด็นเหมือนกับร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ดังกล่าว อันอาจส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาในภาพรวมของประเทศ ด้วยเหตุผลดังนี้

  1. การประชุมครั้งนี้ขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนที่มีส่วนเกี่ยวข้องสำคัญต่อ

การศึกษาของประเทศในหลากหลายมิติอย่างรอบด้าน โดยมีประเด็นสำคัญๆ อาทิ การพัฒนาเด็กปฐมวัย กองทุนเพื่อเสมอภาคทางการศึกษา สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล รวมทั้งประเด็นอื่นๆ ที่สำคัญ อาจจะส่งผลกระทบต่อการศึกษาเช่นเดียวกับการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่เป็นปัญหาต่อการศึกษาของประเทศในภาพรวมจนเกิดการคัดค้านของผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฉบับนี้ทั่วประเทศ

  • วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) มีวาระการ

ดำรงตำแหน่ง 2 ปี นับจากนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งคณะนี้ตั้งแต่วันที่  30 พฤษภาคม 2560 และจะหมดวาระในวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ที่จะถึงนี้ จึงเป็นที่น่าสังเกตและตั้งคำถามต่อการรีบเร่งประชุมในช่วงระยะเวลาท้ายที่สุดของวาระการดำรงตำแหน่งอันเป็นการไม่สมควรยิ่งที่จะพิจารณาประเด็นสำคัญต่อการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ

        เราจะเห็นได้ว่าคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ไม่มีความชอบธรรมที่จะดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษาของประเทศ เพราะผลงานขององค์คณะนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการดำเนินงานส่งผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อเด็กและเยาวชน ต่อกรณีการให้ครูไม่มีใบประกอบวิชาชีพครู แล้วให้ออกใบรับรองความเป็นครูแทน โดยไม่ได้สร้างหลักประกันใดๆ ต่อการศึกษาของชาติ อีกทั้งประเด็นการศึกษาอื่นๆ ที่หมกเม็ดรีบเร่งออกพระราชบัญญัติการศึกษาโดยนำฉบับที่ไม่ได้ผ่านการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการศึกษาทั่วประเทศเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฏีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อที่จะผ่านกฎหมายแม่บทการศึกษาให้ทันในช่วงระยะเวลาที่องค์คณะนี้ดำรงตำแหน่งซึ่งใกล้จะหมดวาระอีกไม่กี่วันที่จะถึงนี้เพื่อที่จะต่ออายุการทำงานและสามารถเข้าไปทำงานต่อในคณะกรรมการนโยบายการศึกษาแห่งชาติ ซึ่งเป็นองค์คณะที่ปรากฏในบทเฉพาะกาลของร่างพระราชบัญญัติฯ หากร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมาย อันเป็นการลับลวงพลางในการพิจารณาดำเนินการเรื่องการออกกฎหมายการศึกษาชาติ สร้างความไม่เชื่อมั่น ไม่ศรัทธา และไม่ไว้วางในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์คณะนี้โดยคณะกรรมการส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากผู้ประกอบวิชาชีพทางการศึกษา  และเป็นผู้ที่ไม่เข้าใจในบริบทการศึกษาของประเทศแล้วอ้างอิงการจัดการศึกษาของประเทศอื่นที่พัฒนาแล้วนำมาใช้กับบริบทที่ขาดความสอดคล้องกับวิถีชีวิตความเป็นไทย ตลอดจนวัฒนธรรมอันดีงามของไทยที่จะต้องดำรงไว้อย่างสิ้นเชิง

        ดังนั้น สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.)และเครือข่ายองค์กรครู 4 ภูมิภาค สหพันธ์ครูภาคเหนือ ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ชมรมครูภาคกลาง สมาพันธ์ครูภาคใต้ และองค์กรเครือข่ายฯครูทั่วประเทศ ขอแสดงจุดยืนคัดค้านและไม่เห็นด้วยในการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาสู่การบูรณาการความร่วมมือกับพื้นที่ และขอเสนอให้การพิจารณาการปฏิรูปการศึกษาของประเทศและการร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ควรเป็นภารกิจการพิจารณาดำเนินการของ คณะรัฐมนตรี รัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งจากประชาชนตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเท่านั้น

        จึงแถลงการณ์มาให้ทราบโดยทั่วกัน

ด้วยความศรัทธาและเชื่อมั่น

สมาพันธ์สมาคมครูแห่งประเทศไทย(ส.ค.ท.)

เครือข่ายองค์กรครู 4 ภูมิภาค สหพันธ์ครูภาคเหนือ,ชมรมครูประชาบาลภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,

ชมรมครูภาคกลาง, สมาพันธ์ครูภาคใต้

วันที่ 17 พฤษภาคม 2562