วันพฤหัสบดี, 25 เมษายน 2567

ภาคีเครือข่ายครูโคราชวอนทบทวนร่างพ.ร.บ.การศึกษา ฉบับกอปศ.ทำให้วิชาชีพครูถดถอยสั่นคลอน

ที่ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) นครราชสีมา เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 11 พฤษภาคม นายไพฑรูย์ อักษรครบุรี ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนบ้านนารากอรพิมพ์ อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา ในฐานะประธานภาคีเครือข่ายครูโคราชพร้อมเครือข่ายผู้ประกอบวิชาชีพครูสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในเขตจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 300 คน นัดหมายกราบไหว้สักการะขอพรท้าวสุรนารี สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองและสำแดงพลังอ่านแถลงการณ์ประกาศเจตนารมณ์อันแน่แน่ ที่จะปกป้อง ผดุงเกียรติแลรักษาไว้ซึ่งอุดมการณ์ ศักดิ์ศรีแห่วิชาชีพครูให้สังคมและสาธารณชนรับทราบ โดยมี พ.ต.อ คเชนทร์ เสตะปุตะ ผกก.สภ.เมือง นครราชสีมา พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงทั้งในและนอกเครื่องแบบกว่า 20 นาย มาดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย

นายไพฑรูย์ ฯ ประธานภาคีเครือข่ายครูโคราช เปิดเผยว่า ที่มาของปัญหาและมีผลทำให้วิชาชีพครูสั่นคลอน สืบเนื่องมาจากคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) นำโดยนายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา ในฐานะประธานคณะกรรมการ ฯ ได้จัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่มีประเด็นข้อสงสัยหลายประการเสร็จเรียบร้อยแล้วอยู่ระหว่างนำเสนอรัฐบาลพร้อมผู้เกี่ยวข้องผลักดันให้กฎหมายการศึกษาฉบับนี้ มีผลบังคับใช้โดยเร็ว โดยผ่านช่องทางการตรากฎหมายเป็นพระราชกำหนด ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทั่วประเทศได้สะท้อนความรู้สึกไม่เห็นด้วยในรายละเอียดบางมาตราของร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติ ฉบับของ นพ.จรัส ฯ ได้ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพโดยตรงและอาจเกิดปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่การเรียน การสอนในอนาคต

นายไพฑูรย์ ฯ กล่าวถึง มาตรา 37 สาระสำคัญผู้ที่เป็นครูจะต้องมีใบประกอบวิชาชีพครูและยกเลิกการใช้ใบรับรองความเป็นครู “ ครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง มีมาตรฐานเป็นตัวกำหนด ครูทุกคนได้ร่วมสร้างสรรค์ ส่งเสริมความเข้มแข็งของวิชาชีพมาอย่างต่อเนื่อง สังคมให้การยอมรับและเชื่อมั่นมาโดยตลอด ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพครูจึงเป็นคนที่มีเจตคติ ค่านิยม มีความเคารพศรัทธาต่อวิชาชีพอย่างแท้จริงและมีใบประกอบวิชาชีพเป็นตัวกำกับ จึงไม่มีเหตุผลใดๆที่จะยกเลิกใช้ใบประกอบวิชาชีพครู ทำให้เกิดข้อสงสัยคณะกรรมการยกร่างกฎหมาย อาจมีนัยซ่อนเร้นและต้องการลด ศักดิ์ศรีความเป็นวิชาชีพชั้นสูงและข้อเสนอให้แก้ไขมาตราที่ 38 ชื่อเรียกตำแหน่ง “ ผู้อำนวยการสถานศึกษา ” ให้ยกเลิก “ ครูใหญ่ ” และใช้ “ รองผู้อำนวยการสถานศึกษา ” ยกเลิก “ ผู้ช่วยครูใหญ่ ” และต้องมาจากบุคลากรวิชาชีพครู ชื่อเรียกตำแหน่งที่ปรับเปลี่ยนจากผู้อำนวยการสถานศึกษาไปเป็นครูใหญ่และตำแหน่งรองผู้อำนวยการสถานศึกษาเป็นผู้ช่วยครูใหญ่ ถือเป็นการลดทอนขวัญกำลังใจของผู้ปฏิบัติหน้าที่โดยตรง เป็นแนวความคิดล้าหลังไม่ทันต่อเหตุการณ์และไม่สอคล้องกับการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่ยุคประเทศไทย 4.0 หน้าที่การบริหารงานยุคสมัยใหม่ผู้บริหารต้องพัฒนาตนเองให้ก้าวทันต่อวิทยาการสมัยใหม่ บริหารงาน รอบด้านและบทบาทหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานศึกษาได้ถูกกำหนดไว้อย่างชัดเจนอยู่แล้วทั้งการสอนและการบริหาร ดังนั้นจึงมองไม่เห็นประโยชน์ใดๆในการปฏิรูปการศึกษาที่จะเปลี่ยนคำเรียกชื่อตำแหน่งและเรื่องความก้าวหน้าทางวิชาชีพ เสนอให้คงไว้ซึ่งการมีวิทยฐานะของครูและบุคลากรทางการศึกษาที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูทั้งก่อนและหลังการประกาศใช้ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด รัฐบาลต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน โดยคำนึงถึงหลักปฏิบัติและบทบัญญัติตามมาตรา 77 และมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และทบทวนร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติใหม่ พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้บุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพครูได้มีส่วนร่วม แสดงออกซึ่งความเห็นและข้อเสนอแนะอย่างกว้างขวางรอบด้าน วิเคราะห์ถึงจุดดี จุดด้อย ผลกระทบแต่ละมาตราก่อนนำเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่รัฐสภาเพื่อพิจารณา ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมในการตรากฎหมายที่สำคัญแทนการเสนอเป็นพระราชกำหนดจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของ เยาวชนไทยให้มีคุณภาพอย่างแท้จริงภายใต้ความร่วมมือของทุกฝ่าย นายไพฑรูย์ ฯ ประธานภาคีเครือข่าย ฯ กล่าวย้ำ

ที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศ ได้มีมติเสนอแนวทางและการขอแก้ไขในรายละเอียดมาโดยตลอด แต่ กอปศ.และผู้ร่วมพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ไม่ได้ให้ความสำคัญหรือรับฟังประเด็นปัญหา เพื่อนำไปสู่การแก้ไขใดๆ กลับเพิกเฉยและมีความพยายามดำเนินการในประเด็นที่จะสร้างปัญหาต่อวิชาชีพครูในอนาคต ภาคีเครือข่ายครูโคราช เล็งเห็นเป็นการดำเนินการที่ไม่เหมาะสม ขัดต่อเจตนารมณ์ในการตรากฎหมายตามบทบัญญัติมาตราที่ 77 ของ รธม. ระบุให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐบาลต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบรวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความ คิดเห็นและการวิเคราะห์ต่อประชาชน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนดังกล่าวยังขาดความสมบูรณ์ในการนำมาใช้จัดทำ ร่าง พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติฉบับนี้

อย่างไรก็ตาม ภาคีเครือข่ายครูโคราช ได้ขอเสนอข้อเรียกร้องไปยังผู้รับผิดชอบและรัฐบาลชุดใหม่ ให้นำประเด็นข้อเรียกร้องสู่การแก้ไขอย่างเร่งด่วน หากยังไม่ยอมรับฟังหรือดำเนินการใดๆที่ขัดต่อแนวปฏิบัติตามบทบัญญัติของ รธม. ภาคีเครือข่ายครูโคราชจะยกระดับการเคลื่อนไหวคัดค้านร่วมกับเครือข่ายองค์กรครูทั่วประเทศอย่างถึงที่สุดและหากรัฐบาลหรือผู้เกี่ยวข้องได้นำข้อเสนอที่นำไปปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสม ภาคีเครือข่ายครูโคราชพร้อมสนับสนุนร่างกฎหมายนี้ให้มีผลบังคับใช้ เพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของเยาวชนและประเทศชาติต่อไป

ด้านนายปรีดี โสโป เลขาธิการภาคีเครือข่ายครูโคราช กล่าวว่า กระแสข่าวที่ปรากฏมีการตีตก พ.ร.บ.การศึกษา ฯ ฉบับนี้ ความจริงไม่ใช่ตามที่สังคมเข้าใจ พ.ร.บ. ฯ ฉบับนี้ ยังมีตัวร่างเพียงแต่ไม่ได้ถูกเข้าเสนอเข้าเป็นพระราชกำหนด จึงขอให้รัฐบาลหยุดการพิจารณา พ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้ทันที จากนี้ต่อไปครูโคราชจะดำเนินการเชิงรุก ลงพื้นที่ให้ความรู้ ชี้แจงข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อ พ.ร.บ.การศึกษาฉบับนี้ ให้กับพี่น้องครู เพื่อให้เกิดแนวทางการขับเคลื่อนในทิศทางเดียวกันและเกิดเครือข่ายผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายอย่างแท้จริง มิใช่ถูกกำหนดมาโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีนัยยะแสวงหาผลประโยชน์จากการศึกษา