วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

ก.ค.ศ.เร่งคลอดเกณฑ์สอบครูผู้ช่วย

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการก.ค.ศ. ที่มีนพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน หารือเตรียมความพร้อมการจัดสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ซึ่งกำหนดจะประกาศรับสมัครในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้นั้น ขณะนี้ร่างหลักเกณฑ์และวิธีการการฯใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา เหลือเพียงรอ สพฐ. สำรวจข้อมูลจากสถานศึกษาในสังกัด ว่าสาขาใดควรจะกำหนดเป็นสาขาขาดแคลน โดยให้สพฐ.หารือทางสถาบันฝ่ายผลิต เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกัน เมื่อได้ข้อมูลที่ตรงกันแล้ว ให้นำเสนอก.ค.ศ. พิจารณาให้ความเห็นชอบ โดยคาดว่า จะนัดประชุมก.ค.ศ.ครั้งต่อไปประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ อย่างไรก็ตามแม้ก.ค.ศ. จะเห็นชอบให้เปิดรับสมัครในสาขาขาดแคลนตามที่สพฐ. เสนอ แต่การบรรจุแต่งตั้งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานตำแหน่งครูผู้ช่วย คือ ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ หรือหลักฐานที่ใช้แสดงในการประกอบวิชาชีพครู ตามที่คุรุสภาออกให้เพื่อปฏิบัติหน้าที่สอนก่อนการบรรจุและแต่งตั้ง

“ถึงวันนี้ทางก.ค.ศ. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง สพฐ. หรือแม้กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ยืนยันว่า มีบางสาขาที่มีความจำเป็น และสาขาเหล่านั้นยังไม่ได้เปิดสอนในหลักสูตร 5 ปีของคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ หรือเปิดสอนแล้วแต่ยังไม่มีผู้สำเร็จการศึกษา ขณะที่ตอนนี้แต่ทางหน่วยงานราชการจำเป็นต้องใช้คนที่จบสาขาเหล่านี้มาเป็นครู ดังนั้นส่วนตัวจึงเห็นว่า การเปิดโอกาสให้ผู้ที่จบในสาขาขาดแคลน มาสมัครสอบครูผู้ช่วย ทางก.ค.ศ.ไม่ได้ทำผิดมาตรฐานตำแหน่ง เพียงแต่เป็นการยืดหยุ่นการสมัคร ซึ่งถ้าเป็นสาขาปกติต้องมีใบอนุญาตฯ ก่อนการรับสมัครวันสุดท้าย แต่ถ้าเป็นสาขาขาดแคลนยืดหยุ่นให้มาสมัครได้ แต่วันที่บรรจุแต่งตั้งต้องมีใบอนุญาตฯ ตามที่กำหนด”นายพินิจศักดิ์ กล่าว

นายพินิจศักดิ์ กล่าวต่อว่า ส่วนหลักเกณฑ์ใหม่ที่จะกำหนดให้ผู้ที่สอบภาค ก ของสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สามารถมาสอบภาค ข และ ค ของก.ค.ศ.ได้ด้วยนั้น ยังไม่ใช้ในการสอบครูผู้ช่วยครั้งนี้ ซึ่งเดิมก.ค.ศ. จะจัดทำหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกครูผู้ช่วยแนวใหม่ โดยให้ส่วนกลางจัดสอบภาค ก และให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ดำเนินการจัดสอบภาค ข และค เอง เพื่อให้สามารถคัดเลือกครูได้ตรงตามความต้องการ แต่เนื่องจากหน่วยงานที่จะรับผิดชอบจัดสอบและออกข้อสอบภาค ก ให้เป็นมาตรฐานกลาง ยังไม่มีความพร้อมในปีนี้ ดังนั้นการสอบครูผู้ช่วยแนวใหม่ จึงยังไม่ใช้ในปีนี้ สำหรับการสอบครูผู้ช่วยปีนี้จะดำเนินการคล้ายกับปีที่ผ่านมา แตกต่างกันตรงที่ ก.ค.ศ.ขอให้ดำเนินการสอบภาค ก.และ ข หากคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจึงจะมีสิทธิสอบภาค ค จากเดิม ที่สอบภาค ก ภาค ข และ ค พร้อมกัน

ที่มา https://www.matichon.co.th/news/937565