วันพฤหัสบดี, 28 มีนาคม 2567

ศธ.ถกภาคเอกชนแก้การศึกษาไทยร่วงเวทีโลก เผยสารพัด ‘ตัวชี้วัด’ จุดอ่อนทำอันดับต่ำ

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม ที่กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ.เปิดเผยภายหลังการประชุมแถลงติดตามความก้าวหน้าการดำเนินการยกอันดับความสามารถแข่งขันของประเทศ ว่า จากการประชุมหารือกับสถาบันจัดอันดับทั้ง 2 สถาบัน คือ World Economic Forum (WEF) และ Institute for Management Development (IMD) เกี่ยวกับสถานการณ์ความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย และแนวทางเพื่อยกอันดับความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันจัดอันดับกับประเทศไทย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนการพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน และการพัฒนาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค พบว่า ผลประกอบการของไทยอันดับตกลงมากจากทั้งหมด 63 ประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงสั่งการให้ทุกกระทรวงและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปทบทวนการทำงานที่ไม่ตอบโจทย์

นพ.อุดมกล่าวอีกว่า โดยตัวชี้วัดที่เป็นจุดอ่อนของไทย และต้องเร่งดำเนินการก่อนเพิ่มเติมในส่วน ศธ. คือ อัตราการเข้าเรียนระดับมัธยม ไทย อันดับ 53, ผลการทดสอบ PISA อันดับ 49, ระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ อันดับ 46, การสอนวิทยาศาสตร์ในโรงเรียน อันดับ 46, การตอบสนองความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของการอุดมศึกษา อันดับ 46, อัตราการไม่รู้หนังสือของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป อันดับ 47 และทักษะทางภาษาที่ตอบสนองต่อความต้องการของผู้ประกอบการ อันดับ 50

นพ.อุดมกล่าวว่า การประชุมวันนี้ได้ให้ทุกหน่วยงานมาร่วมปรึกษาหารือ คือ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน(สช.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา(ก.ค.ศ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.) และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาคเอกชนมาดูข้อมูล เบื้องต้นคาดการณ์ว่า ศธ.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องส่งข้อมูลไม่ครบถ้วน หรืออาจไม่ได้ส่งข้อมูล อันดับประเทศไทยด้านการศึกษาจึงต่ำ

“ยอมรับว่าตัวเลขที่รวบรวมแล้วทั้งประเทศ อัตราส่วนครูต่อนักเรียนของไทยอยู่ที่ 1:24 ไม่เพียงเฉพาะส่วนราชการ อัตราจ้าง หรือครูโรงเรียนเอกชน ครูที่อยู่นอกสังกัด ต้องรวบรวมและทำข้อมูลให้ครบ เมื่อข้อมูลครบถ้วนประมาณการจะอยู่ที่ 1:22 ซึ่งยังไม่ถึงเป้า เป็นเรื่องที่ ศธ.ต้องพัฒนา และตัวชี้วัดอีกอย่างหนึ่ง คือ จำนวนปีที่ได้รับการศึกษา ซึ่งยังทำได้ไม่ดีพอ เพราะจำนวนปีด้านการศึกษาเฉลี่ยที่ดีคือ 14 ปี/คน แต่ตัวเลขล่าสุดเมื่อปี 2560 ของ ศธ.ได้ 9.5 ปี/คน และปี 2561 เพิ่มเป็น 9.62 ปี/คน จึงตั้งเป้าว่าในแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี คือปี 2579 จะให้มีปีการศึกษาเฉลี่ย 12-15 ปี/คน เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานของนานาชาติ” นพ.อุดมกล่าว

นพ.อุดมกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางตัวเป็นข้อมูลจากการสำรวจ เช่น ความคิดเห็นต่อระบบการศึกษาของประเทศที่สามารถตอบสนองต่อการแข่งขันทางเศรษฐกิจ, ความเห็นที่มีต่อการสอนวิทยาศาสตร์, ความเห็นต่อระดับอุดมศึกษาที่สามารถตอบสนองต่อความสามารถในการแข่งทางเศรษฐกิจ และความเห็นที่มีต่อทักษะทางภาษาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ เป็นต้น อยู่อันดับไม่ดี โดยข้อมูลจากการสำรวจเหล่านี้ ศธ.วิเคราะห์และเห็นว่าน่าจะอยู่ในอันดับที่ดีกว่านี้ โดยข้อมูลเหล่านี้ได้มาจากผู้ประกอบการ ซึ่งอาจจะเห็น ศธ.ในบางมิติ คือเห็นภาพในทางไม่ดี จึงตอบในทางไม่ดีเป็นหลัก ที่ประชุมจะเชิญภาคเอกชนมาประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจว่า ศธ.ทำอะไรบ้าง พัฒนาอะไรบ้างที่ตอบสนองต่อความต้องการของเอกชน เพื่อให้เอกชนเข้าใจ และจะได้ตอบตามความเป็นจริงมากขึ้น เบื้องต้นที่ ศธ.ได้ทำไปแล้วคือการพัฒนามาตรฐานทางการศึกษา เช่น โรงเรียนร่วมพัฒนา หรืออาชีวะพันธุ์ใหม่ เป็นต้น

นายพะโยม ชิณวงศ์ โฆษก ศธ.กล่าวว่า ส่วนของปีการศึกษา ถ้าบูรณาการดีๆ และทำให้ครอบคลุมทั้งระบบ คิดว่าปีการศึกษาหน้าจะได้อันดับมากกว่านี้ และการแข่งขันขณะนี้ต้องเน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพราะความต้องการของประเทศ ส่วนใหญ่หนักไปวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำอย่างไรจะปูพื้นฐานตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้น จนถึงระดับอุดมศึกษา อีกทั้งเรื่องภาษา ไม่เพียงภาษาอังกฤษ จีน และญี่ปุ่น โดยเฉพาะภาษาจีน เรามีแหล่งเรียนรู้ที่เกี่ยวกับเรื่องภาษาเยอะมาก ไม่ใช่แค่นักเรียนในชั้นเรียน แต่ต้องพัฒนากลุ่มที่อยู่ในฝ่ายของการประกอบอาชีพด้วย หรือจะเป็นการอบรมภาษาจีนเพื่อการประกอบอาชีพ เป็นต้น

ที่มา https://www.matichon.co.th/news/938989