วันศุกร์, 29 มีนาคม 2567

กอปศ.ผุดอนุ กก.ปฏิรูปโครงสร้าง ควบรวมหน่วยงานศึกษา5 ‘กระทรวง-กรม’

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) เปิดเผยว่า การจัดทำร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ กับเรื่องสถาบันหลักสูตรและการเรียนการสอนแห่งชาติ ยังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน ไม่ได้ข้อสรุปอะไรเพิ่มเติม แต่การประชุมครั้งนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา

ด้านนพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ประธานคณะอนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา กอปศ. กล่าวว่า ขณะนี้ทาง กอปศ. ได้ตั้ง อนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา เนื่องจากมองว่าการปฏิรูปโครงสร้างครั้งนี้ ไม่ได้ปฏิรูปเฉพาะภายในกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.)เท่านั้น แต่เป็นการปฏิรูปโครงสร้างที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ซึ่งมีกระทรวงอย่างน้อย 4- 5 กระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาด้วย เช่นกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และสำนักนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องด้วย ซึ่งที่มาของคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ มาจากหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญปี 60 ในมาตรา 258 ข้อ จ. คือ การปฏิรูปทางด้านการศึกษาโดยเฉพาะในอนุ 4 กำหนดใน รัฐธรรมนูญ คือให้มีการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนทุกระดับเพื่อให้ผู้เรียนสามารถเรียนได้ตามความถนัด และให้ปรับปรุงโครงสร้างของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวให้สอดคล้องกันทั้งในระดับชาติและในระดับพื้นที่

“อนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา มี 3 เป้าหมายด้วยกัน คือ 1. เด็ก เยาวชนพลเมืองทุกช่วงวัยจะได้รับการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ 2.กระบวนการเรียนการสอน กระบวนการเรียนรู้มีคุณภาพ และ3.ครูและคณาจารย์ที่เกี่ยวข้องที่มาจัดการเรียนการสอนต้องมีคุณภาพ ทั้งนี้ 3 ส่วนนี้เป็นเป้าหมายการปฏิรูปการศึกษา” นพ.เฉลิมชัย กล่าว และว่า การปฏิรูปโครงสร้างครั้งนี้ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะออกมาช่วยสนับสนุนให้เป้าหมายทั้ง 3 เป้าหมายนั้นบรรลุผล และการพิจารณาโครงสร้างมีหลัก 5 ข้อด้วยกัน คือ 1.การปรับปรุงโครงสร้างครั้งนี้จะต้องตอบสนองให้เกิดการจัดการศึกษาที่มีพัฒนาการต่อเนื่องดีขึ้นอย่างได้ผลและให้ผ่านการปฏิรูปครั้งนี้ไปด้วยความราบรื่น 2. ยึดสถานศึกษาเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษา 3.ต้องกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษา และการกระจายอำนาจนั้น ให้มีดุลยภาพเหมาะสม 4. โครงสร้างใหม่นี้ต้องกะทัดรัด ทันสมัย เรียบง่ายและไม่ซับซ้อน และ 5.ให้ครอบคลุมทุกมิติการศึกษา

นพ.เฉลิมชัย กล่าวต่อว่า ข้อเสนอเบื้องต้น มีอยู่ 3 ด้านด้วยกันที่จะต้องพิจารณา คือด้านนโยบาย ด้านการควบคุมกำกับ และด้านการปฏิบัติ ซึ่งทางกอปศ.จะเน้นด้านการปฏิบัติ โดยเน้นสถานศึกษาเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานและอาชีวะ อุดมศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตตามอัธยาศัย ด้านนโยบายและด้านการควบคุมกำกับ จะทำการศึกษาเพื่อให้ได้ข้อสรุปต่อไป และที่กำลังจะทำความชัดเจนให้มากขึ้น ในขณะนี้คือคำว่าสถานศึกษานิติบุคคล ซึ่งขณะนี้มีอยู่ 3 คำ คือ 1.สถานศึกษาในกำกับของรัฐ หมายความว่าเป็นนิติบุคคลที่อยู่ในกำกับของรัฐ เป็นนิติบุคคลที่มีอิสระในการบริหารจัดการตนเองด้านในด้านหนึ่ง คือ การบริหารจัดการทั่วไป บริหารวิชาการ บริหารงบประมาณ และบริหารบุคคล และโดยสมัครใจ เฉพาะที่มีความพร้อม 2.โรงเรียนร่วมพัฒนา และ3.โรงเรียนประชารัฐ ทั้ง 3 คำ เบื้องต้น นิยามว่า เป็นโรงเรียนของรัฐแต่มีวิธีการบริหารจัดการที่อาจจะแตกต่างหรือเหมือนกัน

“โรงเรียนพื้นฐานขณะนี้ มีจำนวนกว่า 30,000 โรงเรียนถือว่าเป็นโรงเรียนของรัฐชนิดบริหารจัดการแบบราชการ และจะมีการหยิบบางโรงเรียนในจำนวนนี้เข้ามาทำให้ทันสมัยเหมาะสมขึ้นโดยดึงเอกชนเข้ามาช่วย โดยยังคงเป็นโรงเรียนของรัฐอยู่ ทั้งนี้จะต้องทำการปฏิรูปและทำความเข้าใจกับสาธารณชนและเดินหน้าไปพร้อมกัน เป็นงานทั้งหมดที่ อนุกรรมการปฏิรูปโครงสร้างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา นำเสนอต่อที่ประชุมวันนี้” นพ.เฉลิมชัย กล่าว

ที่มา https://www.matichon.co.th/news/937396